แบบแสดงความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน)

๑. หลักการและเหตุผล
โดยที่มาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และโดยที่คดีล้มละลายที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี และอยู่ระหว่างรอการบังคับคดีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปริมาณคดีล้มละลายที่เพิ่มสูงขึ้นกลับสวนทางกับจำนวนบุคลากรของกรมบังคับคดี ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการบังคับคดีล้มละลาย และอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้มีส่วนได้เสีย กรมบังคับคดี จึงได้เสนอให้มีการพัฒนาให้มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนเข้ามาดูแลจัดการการบังคับคดีล้มละลาย อันจะทำให้ระบบการเฉลี่ยทรัพย์คืนแก่เจ้าหนี้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งลูกหนี้ได้รับการดูแลให้มีโอกาสปลดภาระหนี้สินและพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายได้เร็วขึ้น ซึ่งผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถที่หลากหลาย รวมทั้งจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อที่จะยกระดับให้เกิดความเป็นวิชาชีพเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน จึงต้องเพิ่มเติมวิธีการได้มาและการดำรงตำแหน่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน เพื่อให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในระดับสูงได้อย่างกว้างขวางและเป็นไปด้วยความรอบคอบ ตลอดจนเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น อันเป็นการยกระดับการบังคับคดีล้มละลายให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ก่อให้เกิดกระบวนการในการบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากล

๒. สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
๒.๑ กำหนดให้มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
มีอำนาจตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนให้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในจำนวนที่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด
๒.๒ กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการผู้แทนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน ออกคำสั่ง ออกระเบียบ แต่งตั้งบุคคล เพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน รวมทั้งมีหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
๒.๓ กำหนดให้มีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนต้องปฏิบัติตาม และกำหนดให้มีกระบวนการสอบสวนพิจารณาในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนประพฤติผิดจรรยาบรรณ
๒.๔ กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติหมวด ๕/๑ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ใช้กับบรรดาคดีล้มละลายที่ยื่นฟ้องนับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป
Sign in to Google to save your progress. Learn more
Next
Clear form
Never submit passwords through Google Forms.
This content is neither created nor endorsed by Google. Report Abuse - Terms of Service - Privacy Policy