รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทรขอเชิญวัดความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  เพื่อทำปรนัยวิเคราะห์เรื่องกลไกจัดการสิทธิมนุษยชนเพื่อคนหนีภัยความตายในประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๕๖๔ ผ่านกรณีศึกษา “พี่ภาส” ภาสกร จำลองราช  https://forms.gle/81MNALqP3mU3k8Ug8 
-----------------------------------
ความเป็นมาของเอกสาร
-----------------------------------
(๑) ปรนัยวิเคราะห์ฉบับนี้ สร้างสรรค์เพื่อใช้ในการสอบความรู้ชั้นปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง/ศูนย์รังสิต/วิทยาลัยท่าพระจันทร์  การสอบภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ วิชาเลือก วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. วิชา น.๓๙๖ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ทั้งหลักสูตร ๒๕๕๖ และ ๒๕๖๑) ซึ่งออกข้อสอบโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนโดย คณะผู้ช่วยสอน ๓ ท่าน กล่าวคือ (๑) อ.ดร.ศิวนุช สร้อยทอง (๒) อ.ถิระวัฒน์ ประทุมทอง และ (๓) อ.คุณากร สุวรรณะ
(๒) และต่อมา ถูกใช้เพื่อนักศึกษาในห้องเรียนกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และห้องเรียนกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตลอดจนห้องเรียนสิทธิมนุษยชนอาเซียน   ได้ใช้ทบทวนความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล ตั้งแต่วันที่ ๓๑  กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔  เอกสารนี้เป็นการสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมในห้องเรียน ซึ่งขยายพื้นที่ออกมาเป็น Online Classroom และเพื่อให้นักศึกษาได้ทำงานเขียนประจำสัปดาห์ หลังจากการเรียนการสอนแต่ละครั้ง ตลอดจนภายหลังการเสวนาวิชาการ     Google form อันนี้ จึงเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา หรือผู้เข้าร่วมเสวนา ที่ประสงค์จะแลกเปลี่ยนด้วยกันต่อไป อย่างไม่รู้จบ หลังการสอบ
(๓) และใช้เพื่อมวลมิตรนอกมหาวิทยาลัยอีกด้วย
Sign in to Google to save your progress. Learn more
Email *
ชื่อ ของนักศึกษา หรือมวลมิตร
ก่อนทำปรนัยวิเคราะห์นี้ โปรดอ่านกรณีศึกษา “พี่ภาส” ภาสกร จำลองราช   - กลไกจัดการสิทธิมนุษยชนเพื่อคนหนีภัยความตาย  ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ใช้เป็นฉากทัศน์ของปรนัยวิเคราะห์วิเคราะห์https://docs.google.com/document/d/1-tNGkIKnkQFWNcY_lWZkCBaaaiwyzc7YcJiMlJgdsOQ/edit?usp=sharing 
“พี่ภาส” หรือ ภาสกร จำลอง https://www.facebook.com/paskorn.jumlongrach  จัดเป็น “นักข่าว” ซึ่ง  ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมายาวนาน  ข่าวที่เขียนถึงเริ่มต้นจากความเปราะบางทางสังคมของบุคคลในข่าว  จะเป็นข่าวที่ลงพื้นที่หาข่าวด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ และเนื้อหาข่าวก็จะเป็นเรื่องราวที่น่าเชื่อถือได้อย่างมาก จึงมีพลัง  ใครๆ ก็เรียกท่านว่า “พี่ภาส” ผู้เขียนยังจำได้ว่า ท่านสีน้อย เกษมสันต์ ณ อยุธยา ซึ่งมีอายุเลย ๗๐ ปีแล้ว ในวันที่ไปเยี่ยมชาวบ้าน ที่เกาะเหลา อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ก็เอ่ยปากเรียกท่านผู้นี้ว่า “พี่ภาส” ด้วย ผู้เขียนจึงถามถึงเหตุผล ท่านก็ตอบขำๆ ว่า อยากมีพี่ชายอย่างนี้  ต่อมา ผู้เขียนก็เริ่มสังเกตคำเรียกที่คนโดยทั่วไปเรียกท่านผู้นี้ ก็เข้าใจว่า ความเป็นกันเองและความจริงที่กระจายออกมาจากพี่ภาส อาจเป็นบรรยากาศความคิดที่คนที่อ่อนวัยกว่า เรียกขานท่านอย่างสบายใจ แม้แต่ลูกศิษย์นักข่าวที่มาฝึกงานด้วยก็จะเรียกว่า “พี่ภาส” ในงานเขียนนี้ ผู้เขียนก็จะเรียกท่านว่า “พี่ภาส” อีกด้วย  
พี่ภาสเป็นคนอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  ท่านเข้ามาเรียนเศรษฐศาสตร์ใน กทม.จนจบเศรษฐศาสตรบัณฑิต แต่แล้วก็มาทำงานเป็นนักข่าวที่มติชนรายวัน พี่ภาสเล่าว่า ท่านจัดเป็นนักข่าวในโต๊ะการเมือง  จึงมีความคุ้นชินกับนักการเมืองหลายระดับ และหลากหลายวัย ดังนั้น เมื่อท่านเลือกจะทำข่าวของประชาชนรากหญ้า  เรื่องราวที่จมดินจึงถูกนำไปแลกเปลี่ยนกับเหล่านักการเมือง และนำมาซึ่งการจัดการสิทธิมนุษยชนของคนรากหญ้าที่เป็นข่าวอยู่เสมอ
พี่ภาสสนใจคนเปราะบางทางสังคมทุกลักษณะ และออกเดินทางไปถึงคนดังกล่าวทันที พี่ภาสเขียนข่าวทุกวัน ตั้งแต่เป็นนักข่าวมติชน จนวันนี้ มาเป็นนักข่าวอิสระและออกไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงราย  มีสำนักข่าวของตนเอง ซึ่งมีชื่อว่า “สำนักข่าวชายขอบ (Transborder News)”  โดยการออกตระเวนทำข่าวไปตามที่ต่างๆ ในประเทศไทย หรือประเทศเพื่อนบ้านเหมือนเคย เพียงแต่ในปัจจุบันนี้ ในบางการเดินทาง ก็เป็นการลงพื้นที่กันทั้งครอบครัว กล่าวคือ พี่ภาสไปกับภริยาและบุตรอีก ๒ คน  และผู้เขียนเดาได้ว่า พี่ภาสคงสุขใจมากที่มีภริยามาทำงานเขียนข่าวด้วยอีกคน นอกจากนั้น บุตรชายน้อย ซึ่งมีอายุราว ๑๐ ปี ก็มาทำหน้าที่ผู้รายงานข่าวชาวบ้านอีกด้วย  เรื่องราวของงานข่าวและเรื่องราวของครอบครัวจึงเป็นเรื่องเดียวกัน
กลับมาเล่าถึงบุคคลในข่าวที่พี่ภาสสนใจ ก็ปรากฏในเนื้อหาข่าวของสำนักข่าวชายขอบ ก็เป็นเรื่องประมาณเดียวกับคอลัมน์ “คติชน” ในวันอาทิตย์ของมติชนรายวัน ซึ่งทำเป็น ๑๐ ปีล่ะมัง  นั่นก็คือ คนรากหญ้าทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ  เราจึงเห็นเรื่องของสารพัดคนเปราะบางทางสังคมในงานเขียนที่มีภาษาโคตรละมุนละไมของพี่ภาส อาทิ ชาวเขา คนชายแดน ผู้ลี้ภัย แรงงานต่างด้าว คนไทยพลัดถิ่น ชาวเล คนจน ชาวมานิซาไก คนพิการ คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนขอทาน ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์     โรฮีนจา ฯลฯ แต่ที่เป็นข่าวของพี่ภาสมาเสมอ ก็คือ เด็กด้อยโอกาส  ผู้เขียนจำได้ว่า พี่ภาสเคยรับรางวัลจากการทำข่าวสิทธิมนุษยชนของเด็กจาก Unicef เมื่อเป็น ๑๐ ปีมาแล้ว
ผู้เขียนจึงไม่ลังเลที่จะเห็นความเป็น “กลไกการจัดการสิทธิมนุษยชน” กลไกหนึ่งของประเทศไทย   และเป็นกลไกที่สร้างขึ้นจากจิตอาสาของมนุษย์คนหนึ่ง มิได้เกิดจากคำสั่งทางราชการ พี่ภาสเป็นคนในภาคประชาสังคมมาโดยตลอด ความต่างจากคนอื่นๆ ก็คือ ท่านใช้ข่าวเพื่อจัดการสิทธิมนุษยชน ทั้งใช้ข่าวเพื่อผลักดันการรับรองสิทธิมนุษยชนที่อาจถูกละเมิดแล้ว หรือกำลังจะถูกละเมิด  นอกจากนั้น ข่าวของ    พี่ภาสก็มีบทบาทเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อีกด้วย
ขอทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า ผู้เขียนจะใช้คำว่า “ผู้ลี้ภัย” ก็น่าจะได้ แต่เพื่อไม่ต้องถกเถียงว่า พวกเขามีสถานะเป็น “ผู้ลี้ภัย” ตามหลักกฎหมายไทยและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้เขียนจึงเลี่ยงไปใช้คำง่ายๆ แต่ความหมาย  ชัดว่า “คนหนีภัยความตาย” ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไป ยอมรับว่า มนุษย์มีสิทธิในชีวิต จะได้ไม่ต้องถกเถียงกันมากไป และเร่งเข้าช่วยเหลือให้มนุษย์ดังกล่าวปลอดภัย  ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจแบบนี้มาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปีแล้ว
กลับมาเชื่อมความคิดเรื่องพี่ภาสและผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตาย ดีกว่า
ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับพี่ภาสใน พ.ศ.๒๕๔๗ เมื่อ “น้องกุ้งยุทธนา” ถูกปฏิเสธสิทธิเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ทั้งที่สอบผ่านแล้ว โดยอ้างเหตุว่า น้องไม่ถือสัญชาติไทย   ผู้เขียนเข้าไปจัดการสิทธิมนุษยชนนี้ ก็เพราะน้องได้ร้องทุกข์มาที่คณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์  จึงเป็นโอกาสที่ผู้เขียนได้ใช้วิชากฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อผลักดันการรับรองสิทธิของน้อง ซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่กลับตกเป็น “ราษฎรไทยไร้สัญชาติ”  ในโอกาสนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยเป็นชั่วโมงกับพี่ภาสที่ขอนัดสัมภาษณ์ ท่านมีความอดทน “อย่างมาก” ที่จะฟังคำอธิบายของผู้เขียนในเรื่องของ “คนมีรัฐมีสัญชาติ” และ “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ”   จำได้ว่า พี่ภาสกล่าวกับผู้เขียนด้วยเสียงที่จริงจังมากว่า “ก็หมายความว่า น้องไม่ได้ถูกละเมิดโดยมหาวิทยาลัยในเรื่องสิทธิทางการศึกษาเท่านั้น แต่ถูกละเมิดมาตั้งแต่เกิด โดยการปฏิเสธสิทธิในสัญชาติไทยที่กฎหมายรับรองมาตั้งแต่เกิด”  จำได้ว่า พี่ภาสถามกลับมาว่า “แล้วอาจารย์จะทำอย่างไรต่อไป  ?”  ผู้เขียนก็ตอบว่า เมื่อเราเป็นนักกฎหมาย เราก็ทำงานเหมือนหมอ เราเป็นหมอกฎหมาย  เราก็จะต้องรักษาทุกโรคร้ายทางกฎหมายของคนป่วย เราคงต้องดูแลให้น้องใช้สิทธิทางการศึกษาได้ และใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดได้  ผู้เขียนจำได้ว่า พี่ภาสถามว่า เด็กที่น่าจะเดือดร้อนแบบน้องกุ้งน่าจะมีกี่คน ผู้เขียนดูเหมือนจะตอบว่า ก็น่าจะมีเป็นหมื่น หรืออาจถึงแสนคนที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และที่ประสบอคติมากกว่าเด็กชาวเขา ก็เพราะว่า น้องกุ้งเป็นคนรุ่นที่สามของ “ญวนอพยพ” ซึ่งเป็น “ผู้ลี้ภัย”  หรือ “คนหนีภัยความตาย” จากประเทศเวียดนาม ในช่วงที่มีความขัดแย้งจนมีการสู้รบในประเทศดังกล่าว เข้ามาในประเทศไทย  พวกเขาจัดเป็น “อดีตคนหนีภัยความตาย” เข้ามาอาศัยในประเทศไทย  ซึ่งมีอยู่ ๑๙ กลุ่มในประเทศไทย ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนหนึ่งมาจากความไม่สมบูรณ์ของกฎหมายและนโยบายของรัฐ แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากอคติของผู้รักษาการตามกฎหมาย ซึ่งกรณีของน้องกุ้งยุทธนา เป็นกรณีหลัง และเมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนและยากที่จะเข้าใจ  คนในรัฐบาลไทย ไม่ว่านักการเมืองหรือข้าราชการระดับบน ก็จะไม่มีความอยากเข้าใจ  การพูดคุยของเราในวันนั้น จบลงในบรรยากาศที่ผู้เขียนมั่นใจว่า ผู้เขียนจะไม่โดดเดี่ยวในการสู้เพื่อ “อดีตคนหนีภัยความตาย” ซึ่งตกเป็น “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ” หรือ “คนเสมือนไร้รัฐไร้สัญชาติ” ในประเทศไทย และหลังจากนั้น ผู้เขียนก็ได้เรียนรู้การใช้ข่าวในการสร้าง “แรงกดดันทางสังคม” เพื่อทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย  ผู้เขียนจึงกลายเป็นนักเรียนทำข่าวและเขียนข่าวกับพี่ภาส และมีโอกาสเขียนข่าวหลายหนในคอลัมน์คติชนในตำนานการทำข่าวเพื่อสังคมในประวัติศาสตร์ของสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
พี่ภาส ตลอดจนสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกหลายท่าน จึงออกมาทำหน้าที่สร้างความเข้าใจปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตลอดจนโอกาสที่จะใช้กฎหมายในการขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และการจัดการสิทธิอันจำเป็นในระหว่างปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ
ในท้ายที่สุด การเล่าถึงพี่ภาส ก็น่าจะทำให้นักศึกษาเชื่อมความคิดกับปัญหาผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตายที่ส่งให้อ่านใน https://www.facebook.com/TalkAboutHumanRights/ และใน Google Classroom มาตลอดภาคการศึกษา  อยากให้นักศึกษากลับไปอ่านงานของพี่ภาสอีกครั้ง  ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะเป็นข่าวของ “คนที่หนีภัยการคุกคามของกองทหารเมียนมาข้ามแม่น้ำสาละวิน” เข้ามาในประเทศไทย   เราจะเห็นว่า ข่าวของพี่ภาสทำหน้าที่ของการเขียนคำฟ้องต่อสาธารณะ  ทั้งรัฐเมียนมาหรือรัฐไทยก็คงไม่อยากดูไม่ดี หากจะยังคงมีส่วนร่วมในการสร้างภัยต่อชีวิตให้แก่คนที่หนีภัยความตายกลุ่มนี้  ข่าวของพี่ภาสจึงเป็นเสมือน “เกราะกำบังภัยต่อชีวิต” ให้แก่คนจากเมียนมาดังกล่าว  พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ยังประสบภัยต่อชีวิต มิใช่เพียง “อดีต” คนหนีภัยความตาย ดังคุณหมอกุ้งยุทธนา ในวันนี้
ฉากทัศน์นี้ จึงชี้นำให้นักศึกษาที่เตรียมสอบไปคิดเอาไว้ล่วงหน้าถึงมนุษย์ ซึ่งหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย หรืออาจคิดเลยไปถึงมนุษย์ที่หนีภัยความตายออกจากประเทศไทยไปอาศัยในต่างประเทศ แล้ววิเคราะห์เลยว่า นานารัฐในประชาคมระหว่างประเทศย่อมจะต้องมีหน้าที่เพียงใดต่อคนดังกล่าว การส่งพวกเขากลับไปเผชิญหน้ากับภัยในประเทศต้นทางนั้น เป็นสิ่งที่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่ ?
อาจมีการจำแนกคนหนีภัยความตายด้วยความคิดที่หลากหลาย แต่สำหรับผู้เขียน ซึ่งสอนกฎหมายเพื่อจัดการสิทธิมนุษยชน  ผู้เขียนจึงชอบมากกว่าที่จะจำแนกคนหนีภัยความตายจาก “สถานที่ที่เราอาจพบพวกเขา”  สำหรับผู้เขียน คนหนีภัยความตายในประเทศไทย จึงมีอยู่ ๔ ประเภท
คนในประเภทแรก  ก็คือ คนที่หนีภัยความตายเข้ามาตามชายแดนของประเทศไทย แต่ยังไม่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ของประเทศไทย  ตัวอย่างของคนดังกล่าว ก็คือคนที่เป็นบุคคลในข่าวของพี่ภาส กล่าวคือ ผู้ลี้ภัยความตายจากรัฐกะเหรี่ยงข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาอาศัยบนฝั่งแม่น้ำสาละวิน อาจจะเป็นฝั่งเมียนมา หรือฝั่งไทย  พวกเขาจึงขาดไร้ปัจจัยสี่ในการยังชีพอย่างมาก และขาดขวัญกำลังใจอย่างมาก  จะเห็นว่า โดยหลักการ ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีเพื่อพวกเขา ก็คือ นานารัฐบนโลกจะต้องกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งกองทหารเมียนมาให้หยุดการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนเมียนมา และรัฐไทย ซึ่งเป็นรัฐชายฝั่งตรงข้าม ก็จะต้องไม่ผลักดันพวกเขากลับไปสู่ความหวาดกลัวที่ยังมีอยู่
คนในประเภทที่สอง ก็คือ คนที่หนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย และมาอาศัยร่วมกับคนในประเทศไทย “ได้แล้ว”   พวกเขาอาจจะเป็นคนที่เข้ามาตามแนวชายแดนหรือนั่งเรือ/รถ/เครื่องบินเข้ามาในประเทศไทย ก็ได้ หรือพวกเขาอาจจะเข้าเมืองไทยแบบผิดหรือถูก ก็ได้  หรือพวกเขาอาจจะมีรัฐหรือไร้รัฐ ก็ได้  หรือพวกเขาอาจจะมีสัญชาติให้ถือ หรือไร้สัญชาติ ก็ได้    หรือพวกเขาอาจจะมีเชื้อสายต่างประเทศ หรือเชื้อสายไทย ก็ได้  ฯลฯ  เราคงไม่สนใจว่า UNHCR จะรับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่พวกเขาหรือไม่ รายละเอียดต่างๆ จะทำให้นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนทราบว่า เราควรจะให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร  ซึ่งลักษณะร่วมของพวกเขาก็คือ เราพบพวกเขาในชุมชนของประเทศไทย พวกเขายังมีเสรีภาพ ยังไม่ถูกจับ คนที่เพิ่งเข้ามา ก็จะเริ่มตั้งบ้านเรือนและหางานทำในประเทศไทย แล้วเริ่มนับหนึ่งกับการมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทยเป็นอย่างน้อย ซึ่งคนที่เข้ามานานแล้ว ก็อาจมีบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทย ดังกรณีน้องกุ้งยุทธนาที่เล่าถึงข้างต้น
คนในประเภทที่สาม ก็คือ คนหนีภัยความตายในลักษณะที่สอง ซึ่งถูกจับกุมแล้ว ข้อหาโดยทั่วไป ก็คือ ความผิดฐานหลบหนีเข้าเมือง อาจมีความผิดอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาต ทำร้ายร่างกายของบุคคลอื่น เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเขาทำผิด ก็ต้องลงโทษตามที่ผิด แต่ก็จะผลักดันพวกเขากลับไปเผชิญต่อภัยในชีวิตไม่ได้  เราจะพบพวกเขาเป็นจำนวนมากในห้องกักของ ตม. หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และในสถานพินิจฯ ได้ หากเป็นเด็ก หรือในเรือนจำได้ หากเป็นผู้ใหญ่ และมีความผิดอื่นๆ นอกจากความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  ความช่วยเหลือที่จะประกันให้พวกเขาได้รับเสรีภาพในระหว่างที่กลับประเทศต้นทางไม่ได้ หรือไปยังประเทศที่สาม ไม่ได้ ก็ปรากฏในมาตรา ๕๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ แต่ก็มีกรณีน้อยมากที่ทำได้ รายงานวิจัยจำนวนมากระบุว่า อุปสรรคส่วนใหญ่มาจากความไม่ยอมอำนวยความสะดวกของฝ่าย สตม. หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  และอุปสรรคอีกส่วนมาจากความขาดเงินและคนที่จะมาเป็นนายประกันให้พวกเขาออกไปใช้ชีวิตปกตินอกห้องกัก มีคำถามมากมายไปยัง UNHCR Thailand แต่คำตอบก็ไม่ถูกได้ยินมากนัก
คนในประเภทที่สี่ ก็คือ คนหนีภัยความตายในลักษณะที่สาม ซึ่งมีโชคดีได้รับการประกันตัวให้ออกมามีเสรีภาพที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นปกติ  ในระหว่างรอเวลาที่ภัยในประเทศต้นทางหมดไป และกลับไปใช้ ชีวิตในประเทศต้นทาง หรือมีโอกาสได้เดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม  ความช่วยเหลือทาง กฎหมายที่ต้องทำ ก็คือ การรับรองสิทธิอันจำเป็นที่มนุษย์พึงมี กล่าวคือ (๑) สิทธิในที่อยู่อาศัย (๒) สิทธิในอาหาร (๓) สิทธิในเครื่องนุ่งห่ม และ (๔) สิทธิในยารักษาโรค ตลอดจนได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน  ผู้เขียนยืนยันว่า ในระบบกฎหมายไทย เราดูแลให้มนุษย์ดังกล่าวได้ แต่ในความเป็นจริง มีอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะจากภาคราชการที่รักษาการตามกฎหมาย  นับแต่ พ.ศ.๒๕๖๑ รัฐไทยมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่รับรองสิทธิทำงานหรือสิทธิลงทุนโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ สิทธิที่จะขอใบอนุญาตได้  แต่อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ได้ยินข่าวของใบอนุญาตทำงานของผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตาย คำถามที่ย้อนกลับมาในสมองของผู้เขียน ก็คือ (๑) ทำไมไม่มีผู้ลี้ภัยสักคนไปร้องขอใบอนุญาตทำงาน ? (๒) ทำไมพวกเขาจึงทำงานแบบผิดกฎหมาย แล้วถูกรังแกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เลวทราม มาเรียกค่าคุ้มครอง และ (๓) ทำไมส่วนราชการที่ดูแลความเปราะบางทางสังคมจึงไม่ออกมาทำงานเชิงรุก ?  
ผู้เขียนฝันจะเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดใหม่ ของประเทศไทย ให้ความสนใจเรื่องของคนหนีภัยความตายทั้ง ๔ ประเภท อย่างจริงจัง เพราะเราทั้งหลายน่าจะมีหน้าที่ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักมนุษยธรรมสากลต่อคนดังกล่าว
ท่ามกลางความเงียบงันขององค์กรของรัฐไทยและองค์การระหว่างประเทศในเรื่องนี้ เราจึงมีความสุขที่ได้เห็นข่าวเรื่องผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตายปรากฏขึ้นมาในพื้นที่สาธารณะ และความโดดเด่นของพี่ภาสในความเงียบงันนี้ จึงสร้างความอบอุ่นอย่างมากมาย จริงๆ นะ
พี่ภาสเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้วยข่าว  มิได้ “เป็นเพียง” นักข่าวด้านสิทธิมนุษยชน
จะเห็นว่า เรื่องราวของ “พี่ภาส” ภาสกร จำลองราช  จึงเป็นตัวอย่างของ “กลไกเพื่อจัดการสิทธิมนุษยชนเพื่อคนหนีภัยความตาย” ผู้เขียนเห็นว่า พี่ภาสจึงเป็นฉากทัศน์ที่เหมาะสมมาก ที่ผู้เขียนจะใช้สื่อสารกับนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนน้อยของผู้เขียน  ที่จะได้เข้าใจเรื่องจริงของนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นนักข่าว และเข้าใจเรื่องราวของผู้ลี้ภัย หรือคนหนีภัยความตาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทย
จงเลือกคำตอบที่ท่านคิดว่าถูกต้องเพียงข้อเดียว และเมื่อส่งคำตอบตาม https://forms.gle/81MNALqP3mU3k8Ug8  ฉบับนี้ ก็จะได้คำเฉลยจากผู้ทำปรนัยวิเคราะห์ในทันที
๑. ข้อสรุปในข้อใด “ถูกต้อง” เกี่ยวกับ “พี่ภาส” ภาสกร จำลองราช *
1 point
๒. ข้อสรุปใดดังต่อไปนี้ “ไม่ถูกต้อง” ในเรื่องนิยามของคำว่า “ผู้ลี้ภัย” หรือ “คนหนีภัยความตาย” *
1 point
๓. แนวคิดในการจำแนกประเภทของ “ผู้ลี้ภัย” หรือ “คนหนีภัยความตาย”  ในข้อใดดังต่อไปนี้ “น่าจะ” เอื้อต่อการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย *
1 point
๔. ข้อใดดังต่อไปนี้ “เป็น” การจำแนกผู้ลี้ภัยจาก “สาเหตุที่ต้องลี้ภัยหรือหนีภัย” *
1 point
๕. ข้อใดดังต่อไปนี้ “เป็น” การจำแนกผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตายจาก “สถานที่ที่อาจพบตัวบุคคลดังกล่าว” *
1 point
๖. ข้อใดดังต่อไปนี้ “เป็น” การจำแนกผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตายจาก “ความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือ” *
1 point
๗. ข้อใดดังต่อไปนี้ “เป็น” การจำแนกผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตายจาก “ความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองในสถานะผู้ลี้ภัย” *
1 point
๘. ส่วนราชการของรัฐไทยที่ “มีหน้าที่” รับรองสถานะผู้ลี้ภัย *
1 point
๙. ส่วนราชการใดที่ทำหน้าที่รับรอง “สิทธิในการรอส่งออกนอกประเทศ” ซึ่งก็มักยอมรับรองสิทธิเมื่อผู้แสดงความเป็นคนหนีภัยความตายจากประเทศต้นทาง *
1 point
๑๐. ส่วนราชการใดที่อาจ “ให้ความช่วยเหลือ” ผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตาย ที่จะมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยไม่ถูกจับ และถูกกักในห้องกักของ สตม. *
1 point
ภาพรวมของกลไกประสิทธิภาพเพื่อการจัดการสิทธิมนุษยชน อันได้แก่ (๑) การรับรองสิทธิมนุษยชน (๒) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และ (๓) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
เมื่อตอบแล้ว ก็จะได้รับการวัดผลทันที
และโปรดโต้แย้ง กลับมาได้เลยใต้โพสต์ที่เสนอปรนัยวิเคราะห์นี้ค่ะ แล้วเรามาแลกเปลี่ยนกัน https://www.facebook.com/TalkAboutHumanRights/posts/346072287166521
A copy of your responses will be emailed to the address you provided.
Submit
Clear form
Never submit passwords through Google Forms.
reCAPTCHA
This form was created inside of Thammasat University. Report Abuse